อคติ 4 ประการ และแนวทางการละอคติ

อคติ 4 ประการ และแนวทางการละอคติ

อคติ 4 หมายถึง วิถีในทางที่ผิดหรือการดำเนินไปในทางที่ผิด ทั้งนี้ อันเกิดจากทัศนะหรือความคิดเห็นในทางที่ผิด ซึ่งต่อมาจึงใช้คำให้เข้าใจง่ายเป็น ความลำเอียง หรือ ความไม่เที่ยงธรรม ประกอบด้วย 4 ประการ คือ

1. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบพอ

2. โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะโกรธหรือชิงชัง

3. โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลง หรือ ความลำเอียงเพราะความเขลา

4. ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัว

อคติ 4 เป็นธรรมสำหรับปุถุชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นผู้นำ เป็นหัวหน้า ผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือเป็นข้าราชการ เพราะธรรมเหล่านี้ เป็นสัจจะความจริงที่มักเกิดขึ้นกับบุคคลเหล่านี้ และมีผลอย่างมากต่อการบริหารงาน ต่อการปกครอง และความสงบสุขของสังคม

ผู้นำ หัวหน้างานหรือฝ่ายปกครองที่ละเว้นจากอคติ 4 ประการนี้ได้ ย่อมทำให้ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเกิดความสุข อันส่งผลต่อความเจริญของสังคม และความสงบสุขของสังคมตามมา

อคติ มาจากภาษาบาลี คำว่า

อะ หมายถึง ผิด, ไม่, ไม่ถูกต้อง, ไม่ดีงาม, ไม่สมควร

คติ หมายถึง วิถี, แนวทาง, สิ่งที่เป็นไป, การดำเนินไป, ความเป็นไป, การตอบสนอง, การแสดงออก

คติ มีความแตกต่างกับ ทัศนะ คือ

ทัศนะ หมายถึง ความเห็น, ความคิดเห็น, มุมมอง ส่วน คติ หมายถึง ดังข้างต้น ดังนั้น ทัศนคติ จึงหมายถึง การแสดงออก หรือ วิถีที่ดำเนินไปอันเกิดจากความคิดหรือความเห็น

ความหมายที่ครอบคลุมของอคติ

– วิถีในทางที่ผิด

– แนวทางที่ผิด

– สิ่งที่เป็นไปในทางที่ไม่ดีงาม

– การดำเนินไปในทางที่ผิด

– ความลำเอียง

– ความไม่เที่ยงธรรม

– ความไม่เป็นกลาง

ความหมายของอคติแต่ละประการ

1. ฉันทาคติ คือ ความลำเอียงเพราะชอบพอ

ฉันทาคติ มาจากคำว่า ฉันทะ + อคติ

ฉันทะ หมายถึง ความชอบใจ หรือ ความพอใจ

2. โทสาคติ คือ ความลำเอียงเพราะโกรธหรือชิงชัง

โทสาคติ มาจากคำว่า โทสะ + อคติ

โทสะ หมายถึง ความโกรธ

ปัจจัยที่ก่อเกิดความโกรธหรือชิงชังในคัมภีร์ปริวาร

– โกรธเพราะได้ทำแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่ตนเอง

– โกรธเพราะกำลังทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่ตนเอง

– โกรธเพราะคิดจะทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่ตนเอง

– โกรธเพราะได้ทำแล้วซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่คนที่ตนรัก

– โกรธเพราะกำลังทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่คนที่ตนรัก

– โกรธเพราะคิดจะทำซึ่งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์หรือก่อโทษแก่คนที่ตนรัก

– โกรธเพราะได้ทำแล้วซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่ตนชิงชัง

– โกรธเพราะกำลังทำซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่ตนชิงชัง

– โกรธเพราะคิดจะทำซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่ตนชิงชัง

3. โมหาคติ คือ ความลำเอียงเพราะหลง หรือ ความลำเอียงเพราะความเขลา

โมหาคติ มาจากคำว่า โมหะ + อคติ

โมหะ หมายถึง ความหลง ความลุ่มหลง

4. ภยาคติ คือ ความลำเอียงเพราะกลัว

ภยาคติ มาจากคำว่า ภยะ + อคติ

ภยะ หมายถึง ความกลัว ความหวาดหวั่น หรือ มักเรียกกลายเป็นศัพท์ว่า ภัย

แนวทางการละอคติ 4

1. ไม่คบคนพาล

2. จักกสูตร 4 ประการ

– อยู่ในประเทศอันสมควร หมายถึง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเป็นคนดี

– การคบสัตบุรุษ

– การตั้งตนไว้ชอบ คือ ยึดมั่นในการประพฤติตนให้เป็นคนดีอย่างสม่ำเสมอ

– ความเป็นผู้มีบุญที่ทำไว้ในปางก่อน คือ เชื่อถือในความดีงามที่ทำมาว่าจะเกิดกุศลกรรมที่ดีงามต่อเราในภพนี้ และภพหน้า

3. สัมมาทิฏฐิ คือ ตั้งมั่นในความเห็นชอบ

4. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ พิจารณาสภาพจิตของตนเอง

5. กุศลวิตก 3 คือ การตรึกตรองถึงสิ่งที่เป็นกุศล 3 อย่าง คือ

– การตรึกตรองที่เว้นจากกาม

– การตรึกตรองที่เว้นจากพยาบาท

– การตึกตรองที่เว้นจากการเบียดเบียน

6. สาราณียธรรม 6

7. พรหมวิหาร 4